ความท้าทายและความมุ่งมั่น

จากความต้องการที่จะก้าวเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมโอลีโอเคมี (Oleochemical Industry) บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการบริหารและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีตลอดห่วงโซ่คุณค่า ผ่านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกคู่ค้าที่สำคัญ (Critical Tier-1) รวมไปถึงการประเมินความเสี่ยงจากการดำเนินงานของคู่ค้า พร้อมทั้งส่งเสริมให้คู่ค้าดำเนินงานโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามหลักจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ ควบคู่ไปกับการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย การบริการที่ดี และมีคุณภาพ เพื่อรักษาฐานลูกค้าหลักอย่างเหมาะสม และส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับพันธมิตร และลูกค้าอย่างยั่งยืน

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก

ลูกค้า
คู่ค้า และคู่ค้าทางธุรกิจ

เป้าหมายการดำเนินงาน

คู่ค้าทุกรายรับทราบและปฏิบัติตามจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ
คู่ค้าที่สำคัญในลำดับที่ 1 (Critical Tier-1) ได้รับการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental Social Governance: ESG)
ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยจำนวน 800 ราย ให้ได้รับรองมาตรฐาน RSPO ภายในปี 2567
จำนวนคู่ค้าดำเนินงานที่ละเมิดต่อสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณทางธุรกิจ คิดเป็น 0
คะแนนความพึงพอใจของลูกค้า
ร้อยละ 92
สร้าง Brand Loyalty
เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ (Customer Retention) ผ่านการพัฒนาความพึงพอใจของลูกค้าในระยะยาว

แนวทางการบริหารจัดการ

จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ

บริษัทฯ กำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจของคู่ค้าให้สอดคล้องกับนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ โดยการมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Corporate Governance and Sustainable Development Committee) เป็นผู้ทบทวนและปรับปรุงจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต จัดหาสินค้า และบริการ ให้สอดคล้องตามข้อกำหนด กฎหมาย ตลอดจนครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชนและแรงงาน ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม อย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งดำเนินการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า ที่ครอบคลุมประเด็นด้าน ESG และเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ และมาตรฐาน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมความโปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ในปี 2565 ร้อยละ 100 ของคู่ค้ารับทราบข้อมูลเกี่ยวกับจรรยาบรรณธุรกิจ (Business Code of Conduct Handbook) ซึ่งประกอบไปด้วยแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้า ภายใต้หัวข้อจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ (Supplier Code of Conduct)

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ (Supplier Code of Conduct) ได้ที่ คู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดี และจรรยาบรรณธุรกิจ

การอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงานฝ่ายจัดหา

บริษัทฯ จัดโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพของพนักงานฝ่ายจัดหา เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างที่สอดคล้องกับกลยุทธ์และเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการจัดซื้อให้มีความถูกต้อง และรวดเร็วมากขึ้น

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงานฝ่ายจัดหา (Training for the Company’s Buyers Officer) ในเล่มรายงานความยั่งยืนแบบบูรณาการประจำปี 2565 ของบริษัทฯ

  • โครงการ Smart Work Request App บริษัทฯ นำระบบซอฟแวร์การจัดซื้อจัดจ้าง Smart Work Request System หรือ “SWR” จากบริการ Share Service ของกลุ่ม GC มาพัฒนาระบบจัดการใบสั่งงานและรายงานต่าง ๆ กับกลุ่มคู่ค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยผู้ค้าสามารถเข้ามาจัดทำใบเสนอราคาในระบบได้ โดยที่ใบเสนอราคาจะถูกจัดเก็บในฐานข้อมูลกลาง และพนักงานฝ่ายจัดหาสามารถติดต่อคู่ค้าให้เข้ามาทำงานตามสัญญาได้ผ่านระบบเดียวกัน

การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน

บริษัทฯ บริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพให้แก่ลูกค้า โดยส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้าง สินค้า วัตถุดิบ และบริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ผ่านแผนการดำเนินงาน (Decarbonization Pathway) ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์เคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Portfolio-Driven) ซึ่งบริษัทฯ แบ่งคู่ค้าออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ คู่ค้ากลุ่มจัดหาวัตถุดิบ (Feed Suppliers) คู่ค้ากลุ่มจัดหาสินค้า (Non-Feed Suppliers) และคู่ค้ากลุ่มบริการอื่น ๆ (Service Suppliers)

การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน

บริหารจัดการความสัมพันธ์ และสื่อสารคู่มือจรรยาบรรณธุรกิจ (Business Code of Conduct Handbook) ไปยังคู่ค้าของบริษัทฯ
ประเมินคู่ค้าเป็นประจำทุกปี ครอบคลุมการตรวจประเมินความเสี่ยงของคู่ค้าที่สำคัญ ด้าน ESG (ESG Risk Screening) การคัดเลือกและขึ้นทะเบียนคู่ค้า (Supplier Selection and Registration Process) และการบริหารความเสี่ยงของคู่ค้า (Supplier ESG Risk Management) เพื่อระบุความสำคัญของคู่ค้า (Supplier Identification)
ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของคู่ค้า (Supplier Promote and Support on Capacity Development) ผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนัก รวมทั้งพัฒนาการดำเนินธุรกิจของคู่ค้าให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

การประเมินคู่ค้า

บริษัทฯ จัดทำแบบประเมินตนเองสำหรับคู่ค้า (Self-Assessment Questionnaire: SAQ) เพื่อนำมาใช้ประเมินคู่ค้าเป็นประจำทุกปี ภายใต้ 5 ด้านที่สำคัญ และตรวจประเมินความเสี่ยงของคู่ค้าที่สำคัญด้าน ESG เป็นประจำทุกปี เพื่อพัฒนาและติดตามการดำเนินงานของคู่ค้าให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้า ภายใต้จรรยาบรรณธุรกิจ จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต /จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ (Supplier Code of Conduct) และสอดคล้องกับเป้าหมายการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ อาทิ การปฏิบัติตามกฎหมาย จริยธรรม สิทธิมนุษยชน และความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เช่น ISO9001 ISO14001 RSPO เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการตรวจประเมินโดยการเข้าเยี่ยมพื้นที่ ผ่านตัวแทนพนักงานจากฝ่ายจัดซื้อ หรือหน่วยงานผู้ติดต่องานกับคู่ค้าโดยใช้แบบฟอร์มตรวจประเมิน “เกณฑ์การประเมินศักยภาพด้านความยั่งยืนของผู้ค้า” ซึ่งมีข้อคำถามสอดคล้องกับการดำเนินงานด้าน ESG

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้นำระบบแพลตฟอร์มการบริหารจัดการความยั่งยืนที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ไดแก่ EcoVadis มาใช้ประเมินและติดตามผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของคู่ค้า ทั้งนี้ บริษัท ฯ ได้จัดประเภทคู่ค้าออกเป็น คู่ค้าคุณภาพดีมาก คุณภาพดี คุณภาพปานกลาง คุณภาพปานกลางและเฝ้าระวัง และคุณภาพต่ำ โดยบริษัท ฯ จะกำหนดเงื่อนไขการสั่งซื้อวัตถุดิบสำหรับคู่ค้าแต่ละระดับแตกต่างกันออกไป

ประเด็นสำคัญ 5 ด้านของการประเมินคู่ค้า

สภาวะอุตสาหกรรม

ความยืดหยุ่นและอำนาจต่อรองของคู่ค้า

มุมมองด้านบัญชี การเงิน และอื่น ๆ

ความสามารถในการส่งมอบวัตถุดิบ

ความสามารถในการแข่งขันของคู่ค้า

การตรวจประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ หรือ ESG ของคู่ค้า

บริษัทฯ มีขั้นตอนการคัดเลือกคู่ค้าโดยพิจารณาจากประเภทของความเสี่ยง ซึ่งครอบคลุมประเด็นในหลายมิติ อาทิ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental Social and Governance: ESG) ความเสี่ยงด้านการจัดหาและความผันผวนของต้นทุนราคาของสินค้าและวัตถุดิบ ครอบคลุมความเสี่ยงทางด้านการแข่งขันทางธุรกิจ (Commodity-Specific Risk) ความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล กฎหมายและการเมืองในพื้นที่ที่บริษัทฯ มีการดำเนินงาน (Country-Specific Risk) ตลอดจนความเสี่ยงที่เกิดจากกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector-Specific Risk) เช่น การใช้ทรัพยากร การควบคุมประสิทธิภาพการดำเนินงาน การปล่อยมลพิษ เป็นต้น

ในปี 2565 บริษัทฯ ได้ประเมินคู่ค้าที่สำคัญด้าน ESG จำนวน 84 ราย และพบว่าคู่ค้าทุกรายไม่มีการดำเนินงานที่ละเมิดต่อสิทธิแรงงานหรือสิทธิมนุษยชน หรือละเมิดด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณทางธุรกิจ รวมถึงไม่มีการร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน จริยธรรม การปฏิบัติตามกฎหมาย หรือจรรยาบรรณทางธุรกิจผ่านกลไกการร้องเรียนของบริษัทฯ (Vender Criticism)

การคัดเลือกและขึ้นทะเบียนคู่ค้า

นอกจากกระบวนการตรวจประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ข้างต้นแล้ว บริษัทฯ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการการสินเชื่อองค์กร (GGC Credit Rating Committee) เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกและขึ้นทะเบียนคู่ค้า โดยการประเมินคุณสมบัติของคู่ค้าที่สามารถได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นคู่ค้าใหม่ (Approved Vender List: AVL) ผ่านการตอบแบบประเมินคุณสมบัติของคู่ค้า (Vendor Qualification Form) ซึ่งครอบคลุมความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental Social and Governance: ESG) และความสามารถในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ (Business Relevant) ซึ่งประกอบไปด้วยเกณฑ์การประเมินครอบคลุมทั้งในด้านเทคนิค คุณภาพ ความปลอดภัยอาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม การเงิน ด้านจริยธรรม การดำเนินการตามกฎหมาย และความรับผิดชอบต่อสังคม

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมขั้นตอนการคัดเลือกและขึ้นทะเบียนคู่ค้า (Supplier Selection and Registration Process) และจำนวนคู่ค้ารายใหม่และคู่ค้าทั้งหมด ของบริษัทฯ ปี 2565 ในเล่มรายงานความยั่งยืนแบบบูรณาการประจำปี 2565 ของบริษัทฯ

การบริหารความเสี่ยงของคู่ค้า

บริษัทฯ ได้นำแบบจำลองการวางตำแหน่งการเลือกคู่ค้า (Supply Positioning Model: SPM) มาใช้การบริหารความเสี่ยงและจัดลำดับความของคู่ค้า โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อ (Spend Analysis) และการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) ซึ่งครอบคลุมความเสี่ยงต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ และความเสี่ยงด้าน ESG โดยผลจากการวิเคราะห์แบบจำลองจะนำใช้จัดทำแผนการบริหารความสัมพันธ์กับคู่ค้าแต่ละประเภท รวมถึงนำมาใช้ติดตามและตรวจประเมินผลการดำเนินงานของคู่ค้า และกำหนดแนวทางพัฒนาศักยภาพให้แก่คู่ค้าต่อไป

จากแบบจำลองข้างต้น บริษัทฯ ได้แบ่งลำดับความสำคัญของคู่ค้าออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ Strategics Supplier, Key Supplier และ Manage Supplier ส่งผลให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับคู่ค้า (Supplier Relationship Management: SRM) และยกระดับการจัดซื้อจัดจ้าง

ระดับความสำคัญของคู่ค้า คำจำกัดความ การจัดการเชิงกลยุทธ์ เครื่องมือสำหรับการบริหารจัดการ
Strategics Supplier คู่ค้าที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ และมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและองค์กรของคู่ค้าเอง ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจและภาพลักษณ์องค์กร พัฒนาความสัมพันธ์และเพิ่มศักยภาพของคู่ค้าให้เป็นไปตามทิศทางนโยบายของบริษัทฯ
  • จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ (Supplier Code of Conduct)
  • การประเมินตนเอง (Self-Assessment Questionnaire)
  • การตรวจประเมินด้านการดำเนินงานอย่างยั่งยืน (ESG Risk Assessment)
  • การเสริมสร้างศักยภาพคู่ค้า
  • การบริหารจัดการความสัมพันธ์กับคู่ค้า
Key Supplier คู่ค้าที่กระจายผลิตภัณฑ์ไปยังผู้บริโภค ซึ่งอาจะส่งผลกระทบสูงต่อธุรกิจและภาพลักษณ์องค์กร ตั้งเป้าหมายร่วมกันเพื่อยกระดับการให้บริการ
  • จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ (Supplier Code of Conduct)
  • การเสริมสร้างศักยภาพคู่ค้า
Manage Supplier คู่ค้าที่ดำเนินงานเชิงปฏิบัติการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนหรือบริเวณใกล้เคียง และมีความเสี่ยงน้อยถึงปานกลางต่อผู้ซื้อ ติดตามการดำเนินงานของคู่ค้าเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญา
  • จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ (Supplier Code of Conduct)

นอกจากนี้ หากประเมินแล้วพบว่าเป็นกลุ่มคู่ค้าที่สำคัญ และมีความเสี่ยงสูงจะถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์ ทั้งนี้ บริษัทฯ จะช่วยให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะ ตลอดจนวิธีการแก้ไข (Corrective Actions) ร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงติดตาม ตรวจสอบ และทำการประเมินใหม่อีกครั้ง หากคู่ค้ายังไม่สามารถดำเนินการตามข้อตกลงและระยะเวลาที่กำหนดไว้ได้ บริษัทฯ จะพิจารณาจำกัดการสั่งซื้อวัตถุดิบ ตลอดจนระงับการจัดซื้อจัดจ้างชั่วคราวหรือถอนชื่อออกจากทะเบียนคู่ค้าของบริษัทฯ ต่อไป

ตัวอย่างข้อเสนอแนะหรือมาตรการเพื่อการแก้ไขหรือพัฒนาการดำเนินงานของคู่ค้าดังนี้

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ข้อเสนอแนะหรือมาตรการเพื่อการแก้ไขหรือพัฒนา
การจัดการสิ่งแวดล้อม
  • จัดเก็บข้อมูลการใช้พลังงานในองค์กรอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เช่น การใช้น้า ใช้ไฟฟ้า น้ำมัน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำผลการดำเนินงานไปเพื่อหาวิธีแก้ไข ป้องกัน ปรากฏการณ์เรือนกระจกต่อไป
  • ฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับพนักงาน มีเอกสารประกอบและมีการบันทึกผลการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบ
  • การเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเอกสารอย่างเป็นระบบ
ประเด็นด้านสังคม ข้อเสนอแนะหรือมาตรการเพื่อการแก้ไขหรือพัฒนา
การบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
  • การเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ
  • การเพิ่มเติมเวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และมีการตรวจสอบสม่ำเสมอ
สิทธิมนุษยชน
  • การจัดทำสัญญาจ้างของพนักงานชั่วคราว
ประเด็นด้านการกำกับดูแลกิจการ ข้อเสนอแนะหรือมาตรการเพื่อการแก้ไขหรือพัฒนา
การปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ
  • การสื่อสารนโยบายการดำเนินงาน เช่น นโยบายความยั่งยืน นโยบายคุณภาพ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัยและความรับผิดชอบต่อสังคม นโยบายการรักษาความลับ ข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ไปยัง Supply chain ขององค์กร
  • กำหนดแนวทางการปฏิบัติและตัวชี้วัดผลความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้

การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของคู่ค้า

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของคู่ค้า เพื่อให้การดำเนินงานของคู่ค้าสอดคล้องกับจรรยาบรรณธุรกิจ (Business Code of Conduct) จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ (Supplier Code of Conduct) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานของบริษัทฯ

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของคู่ค้า (Supplier Promote and Support on Capacity Development Program) ในเล่มรายงานความยั่งยืนแบบบูรณาการประจำปี 2565 ของบริษัทฯ

  • การประชุมคู่ค้า (Supplier Conference) บริษัทฯ ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จัดประชุมคู่ค้า เป็นประจำทุกปี เพื่อปรึกษาและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงพัฒนาการดำเนินงานรูปแบบ ESG ร่วมกับคู่ค้า เพื่อก้าวไปสู่การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน
  • โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (Sustainable Palm Oil Production and Procurement: SPOPP) บริษัทฯ ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และ Thailand Oil Palm Smallholder Academy (TOPSA) เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมันของประเทศไทย ให้ดำเนินการตามมาตรฐาน และได้รับการรองรับ RSPO โดยร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ด้วยการนำหลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรรายย่อยผู้ผลิตปาล์มน้ำมันของไทย (TOPSA) มาสร้างความเชื่อมโยงให้กับเครือข่ายเกษตรกรกับโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันและการเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มเกษตรกรเข้าสู่การรับรองมาตรฐาน Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ภายในปี 2567 นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ติดตามผลการดำเนินโครงการเป็นประจำทุกปี ปัจจุบันได้ดำเนินการในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพังงาและจังหวัดชุมพร โดยสรุปการดำเนินงานมีโรงสกัดปาล์มน้ำมันจำนวน 7 ราย และ เครือข่ายเกษตรกรจำนวน 1,000 ราย เข้าร่วมโครงการ

การบริหารและสร้างความสัมพันธ์อันดีร่วมกับลูกค้า

บริษัทฯ เสริมสร้างและรักษาความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า โดยจัดตั้งช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนจากลูกค้าผ่านระบบการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ โดยบริษัทฯ จะรวบรวมข้อข้อเสนอแนะและข้อร้องเรียนจากลูกค้า เพื่อนำไปกำหนดแผนการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้วิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าและนำไปกำหนดแนวทางพัฒนาธุรกิจและกลยุทธ์ทางการตลาดในอนาคต

การสำรวจความพึงพอใจของลูกค้า

บริษัทฯ มีกระบวนการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าเป็นประจำทุกปี เพื่อวัดผลสำเร็จในการดำเนินงานของบริษัทฯ และสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยบริษัทฯ ได้สำรวจความพึงพอใจของลูกค้าผ่านวิธี Customer eQTM Index ซึ่งเป็นเครื่องมือและหลักเกณฑ์ที่ใช้ตรวจสอบระบบการบริหารองค์กรในภาพรวมที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงกระบวนการ ตลอดจนผลลัพธ์ และมุมมองขององค์กรในภาพรวม

ปัจจัยในการวัดผลความพึงพอใจของลูกค้า

สินค้า
  • คุณภาพของสินค้า
  • ความสม่ำเสมอของคุณภาพสินค้า
  • สามารถตอบสนองตรงต่อความต้องการของลูกค้า
การจัดส่ง
  • ความตรงต่อเวลา
  • ความรวดเร็วในการส่งสินค้า
  • การจัดส่งที่ปลอดภัย
  • จำนวนและคุณภาพของสินค้า ตรงตามความต้องการของลูกค้า
การประชาสัมพันธ์
  • การจัดกิจกรรม อาทิ การประชุม สัมมนาให้ความรู้
  • การจัดงานขอบคุณลูกค้า
  • การจัดทำ Promotion ที่เหมาะสม
การดําเนินงาน
  • คุณภาพของสินค้า
  • ความสม่ำเสมอของคุณภาพสินค้า
  • สามารถตอบสนองตรงต่อความต้องการของลูกค้า
การขาย
  • ความสะดวกในการติดต่อ และสามารถเก็ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและกันท่วงที
  • การประสานงาน (Coordinating) ที่รวดเร็วและถูกต้อง

สามารถรับทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับระดับความพึงพอใจของลูกค้า ได้ที่ Performance Data

ในปี 2565 บริษัทฯ ได้ผลประเมินผลการดำเนินงานแบ่งออกเป็นปัจจัยที่สำเร็จและปัจจัยที่ควรปรับปรุง ดังนี้

ปัจจัยที่สำเร็จ
การสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า
  • ประสานงานและสื่อสารกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดเมื่อโรงงานเกิดปัญหา และมีการจัดทำแผนร่วมกับลูกค้าเพื่อลดความเสี่ยงของลูกค้าให้มากที่สุด
  • สร้างความสัมพันธ์อันดีและแสดงความห่วงใยต่อลูกค้าอยู่เสมอ
ปัจจัยที่ควรปรับปรุง
คุณภาพและความเพียงพอของสินค้า การจัดส่งที่ตรงเวลา และการสื่อสารถึงสถานะการจัดส่งสินค้า
  • รักษาระดับความเพียงพอของสินค้าโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แฟตตี้แอลกอฮอล์ (Fatty Alcohols) เพื่อเป็นการรองรับตลาดการส่งออกสินค้าของบริษัทฯ
  • รักษาระดับการส่งสินค้าให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตามแผนการจัดส่งที่ตั้งไว้ รวมไปถึงการสื่อสาร และอัปเดตสถานะการจัดส่งสินค้าเพื่อสร้างความโปร่งใส และมีการแก้ปัญหาอย่างทันถ่วงทีในกรณีที่มีการจัดส่งที่ล่าช้า

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการบริหารและสร้างความสัมพันธ์อันดีร่วมกับลูกค้า ในเล่มรายงานความยั่งยืนแบบบูรณาการประจำปี 2565 ของบริษัทฯ ได้ที่ รายงานความยั่งยืนแบบบูรณาการประจำปี 2565

  • โครงการผลิตภัณฑ์ (Sodium Lauryl Ether Sulfate: SLES) เพื่อต่อยอดธุรกิจไปสู่ตลาด Home & Personal Care (HPC) และตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม